แนะวิธี “รีโนเวทบ้าน”
แบบงบไม่บาน ได้งานคุณภาพดี

เมื่อบ้านสุดที่รักเริ่มแสดงอาการ “ชำรุด ทรุดโทรม เสียหาย!” ก็เป็นสัญญาณให้เจ้าของบ้านอย่างเราเตรียมเอามือขึ้นมาก่ายหน้าผากทันที เพราะจะซื้อบ้านหลังใหม่หรือสร้างบ้านใหม่ทั้งหลังก็ไม่ใช่ราคาถูกๆ ที่จะควักเงินในกระเป๋าจ่ายออกไปง่ายดายโดยไม่สะเทือนขนหน้าแข้ง ดังนั้นหลายคนจึงเลือก “รีโนเวทบ้าน” เพราะนอกจากจะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแล้ว ยังช่วยเสกบ้านของเราให้กลับมาสวยงาม น่าอยู่ ปลอดภัย แถมยังคงบรรยากาศที่เราคุ้นชินไว้ได้อีกด้วย

แต่การเลือกใช้วิธี รีโนเวทบ้าน ก็ใช่จะทำได้ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าปาก เพราะจำเป็นต้องผ่านการคิด วางแผน และพิจารณารายละเอียดหลายอย่าง เราจึงมีเคล็ดไม่ลับสำหรับคนที่กำลังมองหาคู่มือคำแนะนำเกี่ยวกับการรีโนเวทบ้านมาฝากกัน

วางแผนดี ก็แฮปปี้ได้ไม่ยาก

แม้การรีโนเวทบ้านจะใช้งบน้อยกว่า แต่ขั้นตอนเริ่มต้นไม่ต่างอะไรกับการสร้างบ้านใหม่ เพราะควรคิดและมองให้ทะลุปรุโปร่งก่อนว่ามีจุดมุ่งหมายที่จะแก้ไขจุดไหนบ้าง ที่สำคัญควรคำนึงถึงการใช้งานเป็นหลักว่าเหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยของเรามากน้อยเพียงใด จากนั้นจึงค่อยหยิบประเด็นความสวยงามเข้ามาแต่งเติมทีหลัง และเราก็คงไม่ต้องการรีโนเวทบ้านหลายครั้ง หรือเสียเวลานานๆ ดังนั้นบางทีก็จำเป็นต้องใช้สถาปนิกมืออาชีพเข้ามาช่วยออกแบบวางแผน  เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดมากขึ้นก่อนลงมือทำจริง งานราบรื่นและช่วยลดความล่าช้า

รีโนเวทบ้าน SansiriBlog 1

เช็คให้ชัวร์ ผลลัพธ์ไม่มั่วแน่นอน

สิ่งที่ขาดไม่ได้ก่อนรีโนเวทบ้านคือการหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนว่าต้องแก้ไขอะไร ทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะด้วยข้อจำกัดของสภาพโครงสร้างและข้อกฎหมาย อาจทำให้การรีโนเวทบ้านแตกต่างและซับซ้อนกว่าการสร้างใหม่  ดังนั้นก่อนจะเริ่มลงมือ เราควรศึกษาหาแบบในใจจากนิตยสารแต่งบ้านหรืออินเตอร์เน็ตไว้ จากนั้นจึงนำมาสอบถามผู้รู้เฉพาะทาง อย่างสถาปนิก วิศวกร ช่างรับเหมาก่อสร้างที่มีประสบการณ์ว่ารูปแบบที่เราชอบนั้นสามารถทำได้จริงไหม จะติดปัญหาอะไรหรือไม่ เพื่อให้ผลลัพธ์ที่ออกมาตรงตามความต้องการของเราอย่างแท้จริง

ค่าใช้จ่ายไม่บาน งบประมาณต้องมีขอบเขต

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า กว่าจะสร้าง “บ้าน” เสร็จสักหลัง ไม้โทก็มักจะหายกลายเป็น “บาน” รู้หรือไม่ปัญหานี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนที่สร้างบ้านใหม่อย่างเดียว เพราะแม้กระทั่งการรีโนเวทบ้าน ก็ต้องใช้เงินก้อนจำนวนไม่น้อย ดังนั้นถ้าไม่อยากให้กลายเป็น “รีโนเวทบาน” เราก็ต้องคิดคำนวณ กำหนดขอบเขตงบประมาณไว้อย่างดีทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าแบบ ค่าวัสดุ ค่าแรงต่างๆ เพื่อคุมไม่ให้งบบานปลาย

รีโนเวทบ้าน SansiriBlog 2

ตัดสินใจเด็ดขาด ลดงานพลาด เงินปลิว

ปัญหาอีกอย่างของคนที่ปรับปรุงบ้านคือ มีแผนดีแต่ไม่ทำตามแผน เมื่อเริ่มงานไปแล้วตรงนู้นก็อยากปรับตรงนี้ก็อยากเปลี่ยน สุดท้ายไม่ต่างอะไรกับการไม่วางแผน การรีโนเวทบ้านที่ดีคือต้องตัดสินใจครั้งเดียวให้เด็ดขาด ไม่เปลี่ยนสี แบบหรือสเปกวัสดุกลางคัน เพราะจะทำให้งานพังไม่เป็นท่าหรือเกิดปัญหาที่ไม่คาดคิดได้ เราจึงควรทำลิสต์วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการรีโนเวทบ้านไว้ก่อน จากนั้นลำดับความสำคัญและความจำเป็นของอุปกรณ์แต่ละชนิด ก็จะช่วยให้งานราบรื่นและงบไม่บานปลายด้วย

มีแผนดี ใช้วัสดุดี ช่างก็ต้องดี

การปรับปรุงบ้านไม่ใช่ราคาบาทสองบาท ดังนั้นควรพิถีพิถันในการเลือกช่างที่จะมาทำงานให้เรา ไม่ว่าจะเป็นผู้รับเหมาที่มีประสบการณ์ นักออกแบบหรือวิศวกรโครงสร้างที่รับงานออกแบบก่อสร้าง เพราะคนเหล่านี้จะเป็นปัจจัยชี้ชะตาผลสำเร็จของงานรีโนเวทได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตรวจสอบสภาพโครงสร้างบ้าน ระบบไฟฟ้า ระบบประปาเดิมให้ดีและรอบคอบ เพราะเมื่อปรับปรุงต่อเติมอาจเพิ่มน้ำหนักให้โครงสร้างเดิม หรือกระทบต่อตำแหน่งท่อไฟฟ้า ท่อประปาเดิม ที่จะส่งผลเสียต่อโครงสร้างโดยรวมในระยะยาว เกิดปัญหาท่อประปาแตก หรือไฟรั่วจากการทุบเจาะผนังจนเป็นอันตรายได้

รีโนเวทบ้าน SansiriBlog 3

ได้วัสดุถูกแต่ดี อยู่ที่การจัดการ

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าเราคงไม่รีโนเวทบ้านกันบ่อยๆ เพราะฉะนั้นเลือกสิ่งของวัสดุทั้งทีก็ควรเลือกที่แข็งแรง คงทนต่อการใช้งาน เพื่อให้คงสภาพใช้งานได้ไปอีกนาน แต่ก็ต้องสอดคล้องกับงบประมาณของเราด้วย และที่สำคัญของที่ดีก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมีราคาสูงเสมอไป แต่ต้องอาศัยการศึกษาหาข้อมูลพอสมควร

หลายคนคิดว่าการหาซื้อวัสดุเองจะช่วยประหยัดมากกว่าปล่อยให้ผู้รับเหมาจัดการเพราะอาจโดนบวกกำไรเพิ่ม แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าผู้รับเหมาเหล่านั้นจะรู้แหล่งวัสดุที่ราคาถูกกว่าในท้องตลาดที่เราไปซื้อเอง ดังนั้นควรมอบหน้าที่ซื้อวัสดุให้กับผู้รับเหมา เพียงแต่เราต้องตั้งสเปกวัสดุให้ชัดเจนแน่นอนเพื่อป้องกันการซื้อวัสดุสเปกต่ำกว่าที่เราต้องการ

อย่าเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าผู้รับเหมา

หากเคยได้ยินสำนวนอย่าเก็บไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว เพราะเมื่อตกหรือหายจะสูญเสียไข่ไปทั้งหมด การจ่ายเงินในการรีโนเวทบ้านก็เช่นกัน เราไม่ควรจ่ายเงินตูมเดียวทั้งหมดให้กับผู้รับเหมา เพราะนั่นเท่ากับว่าผู้รับเหมาเป็นต่อและเราจะเป็นรองทันที

ทางที่ดีเราควรแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ  ตามชิ้นงานที่ทำเสร็จ หากผู้รับเหมาทำงานไม่ตรงตามต้องการ เราสามารถเปลี่ยนผู้รับเหมาได้ และควรจ่ายเงินก้อนสุดท้ายเมื่อเสร็จสิ้นการรีโนเวทและทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของเราที่ตกลงกันเอาไว้แล้วเท่านั้น และเมื่อเกิดความผิดพลาดหรือจุดบกพร่องจากการทำงานของผู้รับเหมา เราต้องรีบคุยกันให้เข้าใจตรงกันเพื่อแก้ไขให้เรียบร้อย อย่าปล่อยให้ปัญหาบานปลายเพราะอาจจะต้องเสียเงินเพิ่มเติมเพื่อซ่อมแซมภายหลัง

รีโนเวทบ้าน Sansiri Blog 4

ย้ายที่อยู่ขณะรีโนเวท ลดความเสี่ยงคนอาศัย ลดอุปสรรคคนซ่อม

เจ้าของบ้านส่วนมากมักจะยังอยู่ในบ้านตัวเองในขณะที่มีการซ่อมแซม ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้เกิดอุปสรรคทั้งกับช่างที่จะทำงานได้ไม่สะดวก หรือปัญหาที่เกิดกับเจ้าของบ้านเอง เช่น ต้องทนกับเสียงก่อสร้างและกลิ่นสีที่ยังไม่แห้ง ปวดหัวกับการคอยทำความสะอาดทุกวันหลังซ่อม หรือเมื่อมีเด็กและสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายอีกด้วย หากเป็นไปได้ในระหว่างการรีโนเวทนี้ ควรไปอยู่ที่อื่นสักระยะหนึ่งก่อน เมื่อเสร็จสิ้นจึงค่อยย้ายกลับเข้ามา

การรีโนเวทบ้านจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราอีกต่อไป เพียงแต่ต้องศึกษาข้อมูล ขั้นตอนและการเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า พร้อมทั้งปรึกษาผู้มีความรู้ ประสบการณ์ เพื่อลดโอกาสในการเกิดปัญหาจากความไม่เชี่ยวชาญของเรา และประหยัดค่าใช้จ่ายเซฟขนหน้าแข้งของเราด้วย

สนับสนุนข้อมูล Living Guides โดย: ธนาคารไทยพาณิชย์

Related Articles

ส่องพฤติกรรมของคนไทย พร้อมแค่ไหนเรื่องการจัดการเงิน

อย่ารอเก็บเงินออมหลังจากใช้จ่าย แต่จงใช้จ่ายด้วยเงินที่เหลือจาก “การออม” กฎง่ายๆ สำหรับ การออม ให้มีประสิทธิภาพโดยสุดยอดนักลงทุนแบบคุณค่า (Value Investor) สายอนุรักษ์นิยม “วอร์เรน บัฟเฟต์” ที่นอกจากจะดังระดับโลกแล้ว ก็ยังเป็นคนที่มั่งคั่งเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย นั่นเพราะการเป็นคน “ใช้เงินเป็น” ย่อมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองได้เป็นอย่างดี ยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกมีสภาพขรุขระกระท่อนกระแท่นไม่ต่างกับพื้นผิวดวงจันทร์ ส่งผลให้กระเป๋าสตางค์แบนแห้งเป็นหมูแดดเดียวแล้ว

“สินเชื่อบ้าน” มีค่ามากกว่าที่คุณรู้ !

“บ้าน” เป็นทรัพย์สินที่มีค่า กว่าจะได้มาต้องแลกด้วยน้ำพักน้ำแรง  แต่บ้านนี่แหละ คือผู้ช่วยชั้นดีที่อยู่ข้างกายคุณเสมอ เมื่อถึงยามยาก บ้านที่เราลงทุนมาด้วยกายและใจจะเปลี่ยนเป็น “เงินก้อน” ช่วยคุณแบ่งเบาภาระทางการเงินได้เป็นอย่างดี โดยที่คุณยังมีบ้านไว้อยู่อาศัย ไม่ต้องขายบ้านให้ใครเพื่อนำเงินมาใช้ แน่นอนว่าสิ่งที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้น คือสินเชื่อรูปแบบหนึ่งที่หลายคนคงพอคุ้นหูกันมาบ้างแล้ว “สินเชื่อบ้านคือเงิน หรือบ้านแลกเงิน” นั่นเอง บ้านจะเปลี่ยนเป็นเงินได้อย่างไร? สินเชื่อประเภทนี้ เป็นการนำบ้านหรือที่ดินที่ปลอดภาระหนี้สินมาเป็นหลักประกันไว้กับธนาคาร โดยธนาคารจะประเมินราคาของบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อ

ซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ กู้ดีหรือเปล่า?

มนุษย์เงินเดือน ฐานะปานกลาง เงินเดือนสองหมื่นต้น ๆ พอมีเงินเก็บอยู่บ้าง การจะซื้อเฟอร์นิเจอร์สักชิ้นสองชิ้นเพื่อเป็นรางวัลชีวิตดูจะไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไรนัก เราสามารถปักหมุดไปตามงานเฟอร์นิเจอร์แฟร์ที่จัดอยู่เรื่อย ๆ ทุกปีได้ ซึ่งงานลักษณะนี้จะมีแบรนด์เฟอร์นิเจอร์ต่าง ๆ รวมถึงผู้ผลิตที่มีโรงงานทำเฟอร์นิเจอร์ขายเองโดยตรงมารวมตัวกันออกบูทพ่วงโปรโมชั่นและของแถมเต็มไปหมด ข้อดีของการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามงานแฟร์อีกอย่างคือ จะมีร้านขายของใช้ ของแต่งบ้าน เครื่องใช้ไฟฟ้า พร้อมโปรโมชันดี ๆ มาร่วมออกร้านให้เราได้เลือกครบจบในงานเดียวด้วย สามารถเดินเข้าร้านโน้น